เมนู

ตอบว่า บุคคลประสบทุกข์แล้วย่อมปรารถนาสุข ซึ่งก็คือ
ปรารถนาทุกข์นั่นเอง เพราะทุกข์มาถึงเพราะสุขแปรปรวนไป
นักศึกษาพึงทราบความเพลิดเพลินยินดีในทุกข์อย่างนี้. คำที่เหลือ
มีนัยดังกล่าวแล้วในตอนต้น นั่นแล.
จบ อรรถกถาอัสสชิสูตรที่ 6

7. เขมกสูตร



ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ 5



[225] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นพระเถระหลายรูปอยู่ ณ
โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเขมกอาพาธเป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่พทริการาม. ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ภิกษุ
ผู้เป็นพระเถระทั้งหลายออกจากที่พักแล้ว เรียกท่านพระทาสกะมา
กล่าวว่า มาเถิด ท่านทาสกะ จงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงบอกกะ
เขมกภิกษุอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายได้ถามท่าน
อย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไป
ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลา
ไม่กำเริบขึ้นหรือ. ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว
เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ได้กล่าวแก่ท่านพระเขมกะว่า
ดูก่อนท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส
ท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ
ท่านพระเขมกะตอบว่า ผมอดทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้
ทุกขเวทนาอันกล้าของผมกำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ปรากฏว่ากำเริบขึ้น
ไม่ทุเลาเลย.